ลักษณะองค์กร

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา


ประวัติความเป็นมา

         เดิมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา เริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ใดไม่สามารถสืบค้นได้ แต่จากการสอบถามข้อมูลทราบว่า นายถวิล  ชมภูแดง เป็นสาธารณสุขอำเภอเทพาท่านแรกในปี พ.ศ. 2509 ที่ทำการสำนักงานตั้งอยู่ถนนเกษตรขันธ์ ตำบลเทพาอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ราชพัสดุ ที่ สข 1009  มีเนื้อที่ 1 ไร่ 73.9 ตารางวา ได้ก่อสร้างเป็นอาคารไม้ยกสูงทั้งหลังแบ่งพื้นที่ใช้สอยในอาคารดั่งกล่าวเป็น 2 ส่วนโดยใช้ชื่อว่า สถานีอนามัยอำเภอเทพา มีผู้ช่วยแพทย์เป็นหัวหน้า (ตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอในปัจจุบัน) และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านรักษาพยาบาล และควบคุมป้องกันโรค จำนวน 2 คน คือ นางวัจนา  จันทกลิ่น ตำแหน่ง พยาบาล และนางสาวจารุวรรณ  มะตุริม ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์อนามัย ต่อมาอาคารดังกล่าวชำรุดลงมาก จึงได้ของบประมาณก่อสร้างอาคารใหม่เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ตามแบบเลขที่ 356 ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 8 เมตร วงเงินงบประมาณก่อสร้าง จำนวน 218,000 บาท (เมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน) และในปี พ.ศ.2525 นายทัน   แก้วลอย สาธารณสุขอำเภอเทพา ในขณะนั้น เป็นผู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ปฏิบัติงาน ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในอำเภอเทพา เล็งเห็นว่าอำเภอเทพา ตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลปัตตานี ราษฎรได้รับความลำบากในการสัญจรไปรับบริการ จึงดำเนินการของบประมาณในการก่อสร้างโรงพยาบาลเทพา แต่ขัดข้องในเรื่องสถานที่ก่อสร้าง จึงขอใช้ศาลาประชาคมอำเภอเทพา เป็นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลเทพา ขนาด 10 เตียง โดยแลกกับการของบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขในการก่อสร้างศาลาประชาคมอำเภอเทพา (หลังปัจจุบัน) พร้อมทั้งบ้านพักนายอำเภอ และบ้านพักปลัดอำเภอเทพา เป็นการทดแทน แต่ในการก่อสร้างดังกล่าวจำเป็นต้องใช้น้ำในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ประกอบกับราษฎรใน หมู่ที่ 1 ตำบลเทพา ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค จึงเร่งดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการประปา โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่บางส่วนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา (ด้านติดถนนประธานสุขา) และโรงพยาบาลเทพา ขอใช้พื้นที่บางส่วนก่อสร้างบ้านพัก (ด้านติดถนนเกษตรขันธ์) ทำให้ที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา คับแคบ จำนวนเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น ไม่สะดวกในการปฏิบัติราชการและติดต่อราชการ

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 โรงพยาบาลเทพา โดย นายแพทย์สุวัฒน์   วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา ได้ของบประมาณในการก่อสร้างอาคารใหม่ ขยายเป็นโรงพยาบาล ขนาด 30 เตียง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๗ บ้านน้ำขาว หมู่ที่ ๕ ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา  ทำให้อาคารโรงพยาบาลเทพาหลังเก่า (ชั้นเดียว) ว่างลง นายเสถียร ศิริโกศล สาธารณสุขอำเภอเทพา ในขณะนั้น จึงได้ขอใช้อาคารหลังเก่าของโรงพยาบาลเทพา (ขนาด10เตียง) เป็นที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพามาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงอาคารและพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสม กับการปฏิบัติงานต่อไป

ปี พ.ศ. 2540 นายบุญยัง   สุริมานนท์ สาธารณสุขอำเภอเทพาในขณะนั้น ได้ปรับปรุงห้องบริหาร ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องตรวจให้บริการต่างๆ เป็นห้องประชุมและห้องทำงานเจ้าหน้าที่ และปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพื่อเตรียมการประกวดสำนักงานสาธารณสุขดีเด่น ผลการประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต ประจำปี 2540

ปี พ.ศ. 2550 นายวีรศักดิ์   เบญอะหลี สาธารณสุขอำเภอเทพาในขณะนั้น ขอสนับสนุนเงินบริหารจัดการของเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเทพา จาก นายแพทย์สุวัฒน์   วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา เพื่อใช้ในการซ่อมแซมอาคาร ฝาผนัง และฝ้าเพดาน ซึ่ง มีสภาพชำรุดมาก จึงได้มีการปรับปรุงภายในอาคาร เพื่อให้สวยงาม สะดวกและปลอดภัยในการให้บริการและปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยใช้หลัก 5 ส. ซึ่งได้ถือปฏิบัติในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพาและสถานีอนามัยในสังกัดมาจนถึงปัจจุบันนี้

        ปี พ.ศ. 2556 นางบังอร    บุญศรีจันทร์ สาธารณสุขอำเภอเทพาในขณะนั้น ได้วางแผนซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างอาคารเนื่องจากอาคารเดิมมีอายุการใช้งานมาร่วม 30 ปี แต่โครงหลังคายังมีสภาพดี ผนังบางส่วนมีสภาพทรุดโทรมกระเบื้องหลังคาแตกร้าว ทำให้รั่วซึมหากปล่อยไว้จะให้เสียหายมากขึ้น จึงขอสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมหลังคาที่ได้จัดทำแผนของบประมาณมาแล้วตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2551 โดย นายเจริญ    สุขมี สาธารณสุขอำเภอเทพาในขณะนั้น จนได้รับสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมจนแล้วเสร็จในปี 2557 และได้วางแผนปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างอาคารทั้งภายใน  ภายนอก ปรับปรุงถนนคอนกรีต รั้วคอนกรีต และปรับปรุงภูมิทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง และวางแผนการพัฒนาสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา โดยได้ระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนรวมทั้ง ภาคีเครือข่ายต่างๆ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๒๙๐,๐๐๐ บาท (สองแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) จึงได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา จนได้รับการคัดเลือกเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอดีเด่นระดับจังหวัด ในปีงบประมาณ 2558 และได้วางแผนพัฒนาปรับปรุง ร่วมกับ ทันตแพทย์ส่อแหล๊ะ   หมัดยูโส๊ะ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา และคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คป.สอ.เทพา) โดยมีคณะกรรมการพัฒนาสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา ร่วมดำเนินการและได้พิจารณาสนับสนุนงบบริหารจัดการของเครือข่ายสุขภาพอำเภอเทพา จำนวน 2,000,000 บาท (เงินสองล้านบาทถ้วน) โดยมีภาคีเครือข่ายสนับสนุนภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนา (อาคารประชาร่วมใจ) ของคณะกรรมการพัฒนาสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการดังกล่าวทั้งด้านโครงสร้าง ด้านภูมิทัศน์ ด้านบริหาร ด้านการสนับสนุนบริการ และด้านวิชาการ ทำให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทพา มีความสวยงามเหมาะสมและเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ
จนกระทั่ง ปี 2560 นายวีรศักดิ์   เบญอะหลี กลับมาดำรงตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอเทพา อีกครั้งจนถึงปัจจุบัน